เมนู

ทำไมหนอ ท่านทั้งหลาย จึงมาทิ้งดวงไฟเสียแล้วมาตามไฟต่อจากแสงหิ่งห้อย
ด้วยเหตุไร ท่านทั้งหลายจึงมาล่วงเลยพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงแสดงมงคลไว้
ไม่เหลือเสียเล่า ยังเข้าใจว่าควรจะได้ถามเรา มาเถิดท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เรา
จะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พวกเราคงจักได้การพยากรณ์ปัญหา
อัน มีสิริแน่แท้ จึงมีเทวโองการใช้เทพบุตรองค์หนึ่งว่า ท่านจงไปทูลถามพระ-
ผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. เทพบุตรองค์นั้นแต่งองค์ด้วยเครืองอลังการ อันเหมาะ
แก่ขณะนั้น รุ่งโรจน์ดุจสายฟ้าแลบ มีหมู่เทพแวดล้อม ไปยังพระเชตวัน
มหาวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง เมื่อ
ทูลถามมงคลปัญหา จึงกล่าวเป็นคาถาว่า พหู เทวา มนุสฺสา จ เป็นต้น.
นี้เป็นมูลเหตุเกิดมงคลปัญหา

พรรณนาคาถาว่า พหู เทวา


บัดนี้ จะพรรณนาความแห่งบทคาถา. ศัพท์ว่า พหู แสดงจำนวน
ไม่แน่นอน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายว่า หลายร้อย หลายพัน หลายแสน
ชื่อว่า เทวะ เพราะเล่น อธิบายว่า เล่นกับ กามคุณ 5 หรือโชติช่วงด้วย
สิริของตน. อีกนัยหนึ่ง บทว่า เทวา ได้แก่ เทพทั้ง 3 คือสมมติเทพ
อุปปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
บทว่า เทวา ได้แก่ เทพ 3 คือ สมมติเทพ อุป-
ปัตติเทพ วิสุทธิเทพ บรรดาเทพทั้ง 3 นั้น พระราชา
พระราชเทวี พระราชกุมาร ชื่อว่าสมมติเทพ. เทพ
ตั้งแต่ชั้นจาตุมมหาราชิกาและสูงขึ้นไปกว่านั้น ชื่อว่า
อุปปัตติเทพ ท่านที่เรียกกันว่าพระอรหันต์ ชื่อว่า
วิสุทธิเทพ.

ในเทพทั้ง 3 นั้น ในสูตรนี้ ท่านประสงค์เอาอุปปัตติเทพ. ชื่อว่า
มนุษย์ เพราะเป็นเหล่ากอของพระมนู. แต่โบราณาจารย์กล่าวว่า ชื่อว่า
มนุษย์ เพราะเป็นผู้มีใจสูง. มนุษย์เหล่านั้น มี 4 คือชาวชมพูทวีป ชาว
อปรโคยานทวีป ชาวอุตตรกุรุทวีป ชาวปุพพวิเทหทวีป ในสูตรนี้ท่านประสงค์
เอามนุษย์ชาวชมพูทวีป. ชื่อว่ามงคล เพราะสัตว์เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณเหล่านั้น
อธิบายว่า สัตว์ถึงความสำเร็จและความเจริญ. บทว่า อจินฺตยุํ แปลว่า
คิดกันแล้ว. บทว่า อากงฺขมานา ได้แก่ ประสงค์ ปรารถนา กระหยิ่ม.
บทว่า โสตฺถานํ แปลว่า ความสวัสดี ท่านอธิบายว่า ความที่ธรรมทั้งหลาย
อันเป็นไปในปัจจุบัน และภายภาคหน้าทุกอย่าง สวยดีงาม. บทว่า พฺรูหิ
ได้แก่แสดง ประกาศ บอก เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย. บทว่า มงฺคลํ
ได้แก่ เหตุแห่งความสำเร็จ เหตุแห่งความเจริญ เหตุแห่งสมบัติทุกอย่าง.
บทว่า อุตฺตมํ ได้แก่ วิเศษประเสริฐ นำประโยชน์สุขมาให้โลกทั้งปวง
ดังกล่าวมานี้ เป็นการพรรณนาตามลำดับบทแห่งคาถาทั้งหลาย.
ส่วนความรวมมีดังนี้ เทพบุตรนั้นแลเห็นเทวดาในหมื่น จักรวาล
ชุมนุมกันในจักรวาลนี้ เพราะอยากจะฟังมงคลปัญหา พากันเนรมิตอัตภาพ
อันละเอียด 10 บ้าง 20 บ้าง 30 บ้าง 40 บ้าง 50 บ้าง 60 บ้าง 70
บ้าง 80 บ้าง ขนาดโอกาสปลายขนทรายขนหนึ่ง ยืนห้อมล้อมพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้า ซึ่งประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันประเสริฐที่จัดไว้ เปล่งพระรัศมี
ครอบงำเทวดามารพรหมทั้งหมด ด้วยพระสิริและพระเดช และหยั่งรู้ปริวิตก
แห่งใจของเหล่ามนุษย์ชาวชมพู ที่ไม่ได้มาประชุมในสมัยนั้น ด้วยใจตนเอง
กล่าวคาถา เพื่อถอนลูกศรคือความสงสัยของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงว่า

เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ปรารถนาความ
สวัสดี จึงพากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์โปรด
ตรัสบอกมงคลด้วยเถิด พระเจ้าข้า.

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นผู้ซึ่งข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
โดยอนุมัติของเทวดาเหล่านั้น และโดยอนุเคราะห์มนุษย์ทั้งหลาย มงคลอันใด
เป็นอุดมสูงสุด เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ข้าพระองค์หมดด้วยกัน โปรด
อาศัยพระกรุณาตรัสบอกมงคลอันนั้น แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแล.

พรรณนาคาถาว่า อเสวนา จ


พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสดับคำของเทพบุตรนั้น อย่างนี้แล้ว จึงตรัส
พระคาถาว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น. ในพระคาถานั้น บทว่า อเสวนา
ได้แก่ การไม่คบ ไม่เข้าไปใกล้.
บทว่า พาลานํ ความว่า ชื่อว่าพาล เพราะเป็นอยู่ หายใจได้
อธิบายว่า เป็นอยู่โดยเพียงหายใจเข้าหายใจออก ไม่เป็นอยู่โดยความเป็นอยู่
ด้วยปัญญา. ซึ่งพาลเหล่านั้น.
บทว่า ปณฺฑิตานํ ความว่า ชื่อว่าบัณฑิต เพราะดำเนินไป อธิบาย
ว่า ดำเนินไปด้วยคติ คือความรู้ในประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันและภายภาคหน้า
ซึ่งบัณฑิตเหล่านั้น.
บทว่า เสวนา ได้แก่ การคบ การเข้าใกล้ ความมีบัณฑิตนั้น
เป็นสหาย มีบัณฑิตนั้น เป็นเพื่อน ความพรักพร้อมด้วยบัณฑิตนั้น.
บทว่า ปูชา ได้แก่ การสักการะ เคารพนับถือ กราบไหว้.
บทว่า ปูชเนยฺยานํ แปลว่า ผู้ควรบูชา.